กาล หรือเวลา แปลว่า “การกระทำ”หรือ “ผู้กระทำ”
เราจะรู้เวลาไม่ได้เลย หากไม่มีการกระทำเกิดขึ้น เช่น จะรู้ว่า มีใหม่ หรือปีเก่าได้ จะต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด มากระทำสัญญลักษณ์ หรือเครื่องหมายให้เราทราบก่อนเช่น
ดวงอาทิตย์กระทำการโคจร
แสงของดวงอาทิตย์กระทำการตกทอดเงา
พระจันทร์กระทำการโคจร แสงของพระจันทร์กระทำการตกทอด
เข็มของนาฬิกา กระทำการเดิน ฯลฯ เป็นต้น
สมัยก่อน มนุษย์ยังไม่มีสิ่งบอกเวลา ก็จะต้องอาศัยปรากฏการณ์ธรรมาชาติเป็นเครื่องบอกเวลา เช่นดูการโคจรของ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เป็นต้น และคนไทยเราสมัยโบราณ ก็จะใช้กะลามะพร้าว เป็นตัวบอกเวลาได้ คือ นำกะลามะพร้าวมาเจาะรูตรงกลาง แล้วนำไปลอยน้ำ เมื่อมะพร้าวจมเมื่อไร ก็จะรู้กันว่าหมดเวลาแล้ว เช่น หากชนไก่ ก็จะรู้ว่าหมดยกแล้ว หากชกมวย ก็แสดงว่า มวยหมดยกแล้ว เป็นต้น
ต่อมาชาวตะวันตก ได้คิดค้นเครื่องบอกเวลา เป็นเข็ม ไทยเราก็นำมาใช้ และเรียกสิ่งนั้นว่า “นาฬิกา” เชื่อหรือไม่ว่า คำว่า”นาฬิกา”นั้น แปลว่า “มะพร้าว” นั่นแหละ ที่ไทยเราตั้งชื่อเครื่องบอกเวลาประเภทเข็มนี้ว่า “นาฬิกา” ก็เพื่อให้ระลึกถึงเครื่องบอกเวลาเรายุคต้นๆ ของไทยเรานั่นเอง
สรุปว่า คำว่า”กาลหรือเวลา”นั้น แปลว่า “ผู้กระทำ” หรือ “การกระทำ” เป็นสภาวธรรมที่บริสุทธิ์ และเป็นปรมัตถสัจจะ ไม่ใช่สมมุติสัจจะ ถูกต้องไม่ได้ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรอยขยัก ไม่มีรอยต่อ ที่เราสมมุติเรียกว่า ปี,เดือน เวลา, กาล, เก่า,ใหม่ เป็นต้นนั้น ก็เป็นเพียงมนุษย์ที่ฉลาด กำหนดกันสมมุติเรียกกันขึ้นมาเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นสภาวธรรมที่เป็นอนันต์ ไร้ขอบเขตและพรมแดน ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ไม่มีใครที่จะตาม
รู้เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สดได้
กาลเวลา เป็นสภาพธรรมที่คู่อยู่กับโลก และมีความยุติธรรมกับทุกสิ่ง ให้ความเสมอภาคเท่ากัน เราทุกคนได้เวลามาทุกคนละเท่าๆกัน แต่ก็ปรากฏว่า ทุกชีวิตก็ได้ใช้เวลาที่ได้มาให้เกิดประโยชน์ได้ไม่เท่ากัน ใครที่ไม่ประมาท ใช้เวลากับชีวิตได้คุ้ม ทุกระเบียบนิ้วของชีวิต ก่อแต่ประโยชน์อย่างรอบทิศทางได้ ผู้นั้นก็เป็นบุคคลเอกของโลก แต่ในเวลาเดียวกันกับอีกบางชีวิตที่ใช้เวลาผิดพลาด ประมาท ไม่นำเวลาที่ได้มา มาสร้างประโยชน์ให้แก่ชีวิต ตรงกันข้ามกับผลาญเวลาทั้งชีวิตไปในทางเสื่อมเสีย ก็มี
พระพุทธเจ้าตรัสบุคคลประเภทนี้ว่า “โมฆบุรุษ” บุรุษผู้ว่างเปล่า ไร้แก่นสารแห่งชีวิต ถึงแม้จะอยู่ร้อยปี พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงสรรเสริญ สู้ผู้เกิดวันเดียวแล้วปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์ไม่ได้ นั่นก็คือ สู้คนที่เกิดวันเดียวแล้วได้เห็นสัจจธรรม เห็นรูปเห็นนามไม่ได้
สุดท้ายพระพุทธเจ้าให้น้ำหนักไปที่ “ความไม่ประมาท” ไม่ว่ากาลเวลาใด อย่างไร ก็ขออย่าได้ประมาท เปรียบให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ดังนี้
กาลเวลา เปรียบเหมือนน้ำ ที่ไหลไปไม่หยุด มนุษย์ เปรียบเหมือนปลา หรือสัตว์ที่จะต้องอยู่ใต้อิทธิพลของน้ำ จะต้องพัฒนาดิ้นรนสู้กับน้ำให้ได้ อย่าให้น้ำพัดพาไปโดยไร้จุดมุ่งหมาย หากขืนยอมแพ้ ไม่ว่าย ไม่กระเสือกกระสน พัฒนาตัวเองแล้ว ปลาก็จะถูกน้ำพัดไปหรือเป็นอาหารของสัตว์ที่อยู่ในน้ำ คนเราก็เช่นกัน หากไม่มีการพัฒนาตน ฝึกฝนปัญญา พัฒนาความสามารถแล้ว อายุก็จะล่วงเลยไป ไม่ได้สาระกับชีวิตเท่าที่ควร
กาลเวลา บางทีโบราณาจารย์ก็เปรียบว่า “เหมือนยักษ์” ที่คอยกัดกินผู้ประมาท ไม่ระวังตัว โดยเปรียบเทียบดังนี้ กาลเวลา คือตัวยักษ์ ตนหนึ่ง มีตา ๒ ข้าง (ข้างขึ้นกับข้างแรม) บางตัวมีฟัน ๒๘ ซี่ บางตัวมีฟัน ๒๙ซี่ บางตัวมีฟัน ๓๐ซี่ บางตัวมีฟัน ๓๑ ซี่ (เปรี่ยบได้กับเดือนแต่ละเดือน) ยักษ์ตนนี้ เคี้ยวกินสรรพสัตว์อยู่ทุกอนู ทุกวินาที กลืนกินสรรพสัตว์ให้ตายทุกวินาทีเช่นกัน (ปฏิจฉันนมรณัง ตายแบบปกปิด)
เมื่อเรารู้หน้าตา และวิธีการขับเคลื่อน และกลไกของเวลา ที่มีผลต่อเราอย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้เราเข้าใจในปีใหม่ ปีเก่ามากยิ่งขึ้น จะได้วางใจ และถูก บริหารจัดการเวลาได้ถูก จะได้ไม่ประมาท เป็นหยื่อ รัดเข็มขัดชีวิตให้กระชับยิ่งขึ้น ก็นำมากล่าวไว้ เป็นเครื่องประดับสติปัญญา แก่ผู้อ่าน ก่อนจะถึงปีใหม่ ก่อนปีเก่าจะจากไป (ตามความเข้าใจที่เราสมมุติกัน)
แต่หากผู้ใด ไม่อยากให้เวลาเก่าใหม่จากไป เป็นนายแห่งกาลเวลาเสมอ พ้นเงื่อนไข กลไกของกาลเวลา ใหม่บริสุทธิ์ มันวาว อยู่เสมอนั้น ก็คือมีทางเดียวเท่านั้น และทางนี้พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำเรามาแล้วสองพันกว่ามี วิธีนี้ก็คือ จะต้องสมถกรรมฐานและปฏิบัติวิปัสสนา (อย่างต่อเนื่องและจริงจัง) เป็นสาตัจจะจริงๆ เท่านั้น ถึงจะพ้นวิสัยโลก วิสัยสมมุติ และจะเป็นอิสระและใหม่ทุกกาลและเวลาตลอดไป
โชคดี ปีใหม่กันทุกท่านทุกคน