วันนี้ ( 10 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือ สมเด็จเกี่ยว ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้มรณภาพลงแล้วอย่างสงบ เมื่อเวลา 08.41 น. ที่ผ่านมา ที่รพ.สมิติเวช ขณะอายุ 85 ปี เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด และจะมีการเคลื่อนศพออกจากโรงพยาบาล ในวันพรุ่งนี้ (11 ส.ค.) เวลา 10.00 น.
ขณะที่พุทธศาสนิกชนและบรรดาลูกศิษย์ลูกหาต่างเศร้าเสียใจต่อการมรณภาพ
สำหรับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) เป็นพระสงฆ์มหานิกาย ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เคยเป็นผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช ปัจจุบันเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี พ.ศ.2533 มีนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์ ภาวนากิจวิธานปรีชา ญาโณทยวรางกูร วิบูลวิสุทธิจริยา อรัญญิกมหาปริณายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
มีนามเดิมว่า เกี่ยว โชคชัย เกิดวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2471 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง ณ บ้านเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 7 คน ของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี (ยี โชคชัย) ครอบครัวทำสวนมะพร้าว ปัจจุบันสกุลโชคชัย หรือแซ่โหย่ เปลี่ยนชื่อสกุลเป็นโชคคณาพิทักษ์
สำเร็จการศึกษาขั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ในปี 2483 แต่ก่อนจะถึงกำหนดวันเดินทางไปเรียนต่อยังโรงเรียนใน ตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เด็กชายเกี่ยวเกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่าหากหายจากป่วยไข้จะให้บวชเป็นเณร ดังนั้น เมื่อหายป่วยจึงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ 6 มิถุนายน 2484 ที่วัดสว่างอารมณ์ ต.บ่อผุด โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์เป็นพระอุปัชฌาย์
ความตั้งใจเดิมคือบวชแก้บน 7 วัน แล้วจะสึกไปเรียนต่อ แต่เมื่อบวชแล้วก็ไม่คิดสึก โยมบิดามารดาจึงพาไปฝากหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย ต่อมาหลวงพ่อพริ้งนำไปฝากอาจารย์เกตุ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร แต่ไม่นาน กรุงเทพฯ ประสบภัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลวงพ่อจึงรับตัวพาไปฝากอาจารย์มหากลั่น ต.พุมเรียง อ.ไชยา กระทั่งสงครามสงบจึงพา กลับไปที่วัดสระเกศ ฝากไว้กับพระครูปลัดเทียบ (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ)
ท่านศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และศึกษาปริยัติธรรม สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เมื่อมีอายุครบอุปสมบทก็ได้อุปสมบทในวันที่ 1 พฤษภาคม 2492 ที่วัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้นพ.ศ.2497 ท่านสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค อันเป็นประโยคสูงสุด
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์โดยลำดับดังนี้ พ.ศ.2501 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระเมธีสุทธิพงศ์ พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะ ชั้นราช ที่พระราชวิสุทธิเมธี พ.ศ.2507 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์ พ.ศ.2514 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมคุณาภรณ์ พ.ศ.2516 เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จ) ที่พระพรหมคุณาภรณ์
พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่ออายุ 62 ปี นอกจากนี้ เคยได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี 2508 ครั้นถึงพ.ศ.2516 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และพ.ศ.2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม
เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาตั้งแต่ต้นปีพ.ศ.2545 ทำให้เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคมจึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชในต้นปีพ.ศ.2547
ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติห น้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน
สมเด็จพระพุฒาจารย์มีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่ม ประกอบด้วย ธรรมะสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ดีเพราะมีดี, ทศพิธราชธรรม, วันวิสาขบูชา, การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), โอวาทพระธรรมเทศนาและบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน และคุณสมบัติ 5 ประการ