กำหนดการบำเพ็ญกุศลสัตตมวาร
พระเทพโพธิวิเทศ(ทองยอด ภูริปาโล ป.ธ.๙, Ph.D.)
วันเสาร์ ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๔
เวลา ๑๐.๐๐ น. พระราชาคณะ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์(ในพระบรมราชานุเคราะห์)
เวลา ๑๐.๓๐ น. พระราชาคณะแสดงธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ (ในพระบรมราชานุเคราะห์)
เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ จำนวน ๘๓ รูป
เวลา ๑๒.๐๐ น. พระสงฆ์ จำนวน ๘๓ รูป สวดมาติกาบังสุกุล
เวลา ๑๙.๐๐ น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม (ในพระบรมราชานุเคราะห์)
หมายเหต…จะแจ้งกำหนดการทำบุญครบรอบ ๕๐ วันให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง และสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาจองเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมถวายพระเทพโพธิวิเทศ ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๔
สิ้น “พระเทพโพธิวิเทศ” เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ก่อนเตรียมเคลื่อนศพไปยังคณะตำหนัก วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 30 พ.ค.นี้…
28 พ.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากพระจักรพันธ์ ธมทีโป (พูนสวัสดิ์) ผู้ช่วยพระธรรมฑูตวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพระผู้ดูแลพระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริวิปุโล ป.ธ.9 Ph.D.) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราช ว่า เมื่อเวลาประมาณ 09.09 น. ของวันที่ 28 พ.ค.พระเทพโพธิวิเทศ ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หลังจากได้เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ตึกวชิรญาณ ชั้น 4 ห้อง 407 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร สิริอายุได้ 83 พรรษา 63 ทั้งนี้ จะมีการเคลื่อนศพของพระเทพโพธิวิเทศ จากโรงพยาบาลจุฬาฯ ไปยังคณะตำหนัก วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ ในเวลา 09.00 น. วันที่ 30 พ.ค.นี้ จากนั้นจะเปิดให้พระสงฆ์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนรดน้ำศพ จากนั้นจะขอพระราชทาน เพลิงศพต่อไป
พระจักรพันธ์ กล่าวต่อว่า ก่อนที่พระเทพโพธิวิเทศจะมรณภาพในช่วงกลางคืนวันที่ 27 พ.ค. ได้ปรารภกับอาตมาว่า อยากจะสร้างโรงพยาบาลที่วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ให้แล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นสถานที่รักษาคนป่วย ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ แต่พระเทพโพธิวิเทศ ก็มามรณภาพเสียก่อน ซึ่งพระสงฆ์ในวัดต้องสานต่อเจตนารมณ์ของพระเทพโพธิวิเทศ ให้โรงพยาบาลแล้วเสร็จให้ได้
สำหรับประวัติพระเทพโพธิวิเทศ หรือหลวงพ่อทองยอด เป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาลำดับที่ 3 เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศอินเดีย โดยไม่ยอมกลับประเทศไทยเป็นเวลานานถึง 50 ปี นับเป็นพระมหาเถระที่มีใจเด็ดเดี่ยวอย่างยิ่ง ทั้งยังมีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใส มักน้อย สันโดษ ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะแก่พุทธบริษัทที่ได้สัมผัสอย่างเด่นชัด
พระเทพโพธิวิเทศ เกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2471 ณ บ้านหมู่ที่ 5 ต.พิตเพียน อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายไวยและนางถมยา บุณยเนตร ครอบครัวประกอบอาชีพชาวนา จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 7 ที่โรงเรียนมหานาค กระทั่งพออายุ 14 ปี ได้เข้าพิธีบรรพชา เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2486 ณ วัดกุฎีทอง อ.มหาราช โดยมีพระครูประจักษ์สุตคุณ วัดอุโลม เป็นพระอุปัชฌาย์ พออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2491 ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุฯ โดยมีพระธรรมปัญญาบดี (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) วัดมหาธาตุฯ เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังอุปสมบท ศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ในที่สุด พ.ศ.2502 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ จากนั้นได้ศึกษาต่อจน พ.ศ.2526 สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยมคธ ประเทศอินเดีย ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2531 เป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย พ.ศ.2532 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร และเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2533 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีสุธรรมมุนี พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่พระราชโพธิวิเทศ พ.ศ.2548 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพโพธิวิเทศ
สำหรับวัดไทยพุทธคยา เป็นวัดไทยแห่งแรกในต่างประเทศ สร้างขึ้นในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้สร้างขึ้นในดินแดนพุทธภูมิ ถือว่าเป็นต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา ในโอกาสที่เป็นมงคลสมัยแห่งปีฉลอง 25 พุทธศัตรวรรษ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นวัดที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการก่อสร้างตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย
อ้างอิงจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์