ผู้เขียน : ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ
พระพุทธศาสนา คือ รากแก้วของวัฒนธรรมไทย วิถีชีวิตของประชากรไทยส่วนใหญ่เริ่มจากครอบครัวที่ให้การศึกษาอบรมบ่มเพาะลูกหลานอยู่ในศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี มีกิริยามารยาทแบบไทยซึ่งสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพชนไทย แสดงถึงอัตลักษณ์ (Identity) รวมเป็นเอกลักษณ์ (Uniqueness) ของคนไทยเป็นที่ประจักษ์เด่นชัดของชาวโลก
ศูนย์กลางแกนหลักของวัฒนธรรมไทยคือพระพุทธศาสนา นำความสันติสุขแก้ทุกข์ได้ตามวิถีชาวพุทธ สามารถอยู่ร่วมกันกับทุกศาสนาอย่างเป็นมิตรไมตรี ตามพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีสถาบันเอกลักษณ์ของชาติประกอบด้วยสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า สีขาวของธงชาติ หมายถึง
ขาวบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์
และธรรมะคุ้มจิตไทย
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์รวมของพระรัตนตรัยจึงเป็นต้นแบบของวิถีพุทธ วิถีไทย เป็นศาสนาหลักประจำชาติที่ควรพิทักษ์รักษาเป็นมรดกของไทยไว้ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ทรงไว้ ซึ่งทศพิธราชธรรม ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนาในประเทศไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภาร
บทบาทของพระสงฆ์ มีศาสนกิจสำคัญคือการจาริกไปประกาศพระพุทธศาสนา สนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความว่า
จรถ ภิกฺขเว จาริกํ
พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย
ภิกษุทั้งหลาย เธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุสามเณร จึงต้องเดินทางไปประกาศพระพุทธศาสนา แผ่เนื้อนาบุญ ท่องเที่ยวไปจุดประทีปพุทธธรรมนำปัญญาสู่มหาชนชาวโลกให้มีความประพฤติตามหลักศีลธรรม รักษาระบบอาวุโสตามพระพุทธดำรัสเพื่อความสุขความเจริญที่ว่า
ปูชา จ ปูชนียานํ บูชาคนที่ควรบูชา
ทิศทางของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้ถูกดึงกระแสสากลมาครอบคลุมลักษณะเฉพาะที่บ่งอัตลักษณ์ของคนไทย จากวิถีพุทธด้วยการตีความทางภาษาในคำว่า สิทธิเสรีภาพสิทธิเสมอภาค อันเป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธในด้านการเมืองการปกครอง แต่ศาสนาเป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเชื้อชาติอื่นจะมาครอบครองมิได้ อิทธิพลของการตีความหมายได้บิดเบือนวิถีพุทธให้หลอมละลายถูกกลืนสู่เบ้าหลอมรวมจนขาดเอกลักษณ์มากขึ้นทุกที นักสื่อสารมวลชนบางคนยังเห็นข่าวความเสียหายย่อยยับจากฝีมือของพระสงฆ์ที่ย่อหย่อนในธรรมวินัยตีข่าวฉาวโฉ่กลบภาพพจน์ของคำว่า “พระ” แบบเหมารวมเป็นที่สนุกมือสนุกปาก พุทธบริษัทที่ขาดสำนึกและความเข้าใจต่อหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนมีส่วนทำให้ธงชัยพระพุทธศาสนาถูกลดสีเหลืองสดใสของธงธรรมจักรลงมาสู่เสาหลักใหม่ที่มิได้มั่นคงเป็นหลักถาวรนัก คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แม้ผู้ทำงานทุกภาคส่วนขององค์กรนี้จะทุ่มเทอุทิศตนหนักหนาสาหัสเพียงไร กระแสน้ำทุ่งไหลมา น้ำป่าไหลหลาก ยากเกินจะจะปิดกั้นไหวฉันใดก็ฉันนั้น
ความเป็นมาของความคิดในการเปิดห้องรับรองพระภิกษุ สามเณรเกิดขึ้นจากการประชุมระดมความคิดเพื่อการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติปรับแก้เรื่องการอนุรักษ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนาชุดตามคำสั่งแต่งตั้งโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณตรึงใจ บูรณสมภพ ประธานคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศีลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ซึ่งประธานคณะอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนา คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุดบรรทัด ได้จัดประชุมระดมความคิดจากคณะอนุกรรมาธิการและที่ปรึกษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ที่ประชุมได้อภิปรายภาพรวมของพระพุทธศาสนาและนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อพิจารณาแนวทางดำเนินงานในการสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจ การยึดมั่นในพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ แนวทางการส่งเสริมความสามัคคีอย่างมีเอกภาพในหมู่พุทธบริษัทให้ดำเนินแนวทางที่ถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำไปสู่ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
ที่ประชุมมีมติให้พิจารณาเรื่องความเหมาะสมของภาครัฐที่ให้ความสำคัญในการปฏิบัติต่อพระภิกษุสามเณร ทั้งในด้านความเข้มแข็งยึดมั่นในธรรมวินัยของพระสงฆ์ และการปฏิบัติต่อพระสงฆ์อย่างเหมาะสมกับสมณสารูป เรื่องหนึ่งในหลายปัญหา คือ การเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตไทย เริ่มตั้งแต่การเดินทาง ที่ประชุมเห็นสมควรให้เปิดห้องรับรองพระสงฆ์ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติ เสมือนประตูสำคัญสู่ภาพลักษณ์วิถีพุทธ วิถีไทย ประทับใจในบรรยากาศของแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ประกอบด้วยความวิจิตรงดงามของภูมิทัศน์วัด วัง ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์เชื้อชาติไทยและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทย ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนาชุด พ.ศ. 2551 จึงมีมติให้ พลอากาศเอก วีระวุธ ลวะเปารยะ เป็นผู้ประสานการดำเนินงานร่วมกับฝ่ายบริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุดบรรทัด เป็นประธานคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม และเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนา คณะอนุกรรมาธิการร่วมกันประสานงานจนสำเร็จสามารถเปิดห้องรับรองพระภิกษุ สามเณร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ห้องนี้ตั้งอยู่บนชั้นที่ 3 จากทางเข้าประตูที่ 8 ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ความกว้าง 50 ตารางเมตร และต่อมาได้จัดห้องอีกห้องหนึ่งบนชั้นที่ 2 ความกว้าง 75 ตารางเมตร บริเวณผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ อีกทั้งอำนวยความสะดวกในการอนุญาตให้ผ่านช่องทางพิเศษกับกลุ่มพิเศษ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ คนเจ็บที่มีช่องทางพิเศษอยู่แล้วได้
หลังจากนั้น ปี พ.ศ. 2554 ได้มีการสรรหาและเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณตรึงใจ บูรณสมภพเป็นประธานคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรมได้แต่งตั้งให้นายธีระ สุวรรณกุล สมาชิกวุฒิสภาเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา และแต่งตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งมีนางสุรีย์ พันเจริญ เป็นประธานคณะทำงานห้องรับรองพระสงฆ์ – สามเณร ในคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา คณะทำงานทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ห้องรับรองพระภิกษุ – สามเณร จัดทำเอกสารแผ่นพับประชาสัมพันธ์ ประสานงานกับสำนักงานพระพุทธศาสนาและการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิผู้ดูแลรับผิดชอบห้องรับรองพระสงฆ์ – สามเณร สนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามศาสนกิจหลักของประเทศที่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนิกชนโลก เป็นสถานที่ใช้พักรอการเดินทาง การเจริญสมาธิภาวนา ทำวัตรสวดมนต์ อ่านหนังสือ สนทนาธรรม ก่อนขึ้นเครื่องบินทุกสายการบิน
ลักษณะการทำงานของคณะทำงาน มุ่งจับประเด็นเส้นทางของวิถีพุทธที่มั่นคง ให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตโดยมุ่งประโยชน์สุขต่อมหาชนชาวโลก นำชาวพุทธให้เป็นเอกภาพมีความยึดมั่นศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา สนับสนุนการเผยแผ่ศาสนากิจกลับมาสู่ความเป็นศาสนาหลักของชาติเหมือนกับที่เป็นมาแต่เดิมนับหลายช่วงศตวรรษ มิให้ถูกบั่นทอนไปตามกระแสสังคม รวมทั้งพิจารณาโครงสร้างองค์กรทางด้านการเมืองการปกครองที่รัฐควรสนับสนุนในฐานะสถาบันเอกลักษณ์ของชาติ อย่างเป็นรูปธรรม
จะเห็นได้ว่า ความสำคัญในการจาริกของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเป็นพุทธบัญญัติที่นอกจากจะสร้างบุญกุศลแก่ผู้ประพฤติตามพุทธดำรัสแล้ว ยังนับเป็นพุทธบูชาส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้ส่องสว่างในพุทธภูมิโดยเฉพาะสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง ทำให้พระพุทธศาสนาที่ถูกรุกรานทำลายในประเทศอินเดียได้เบิกบานรุ่งเรืองจนทุกวันนี้มีวัดไทยในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แสดงความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นหลายแห่ง เชื่อมโยงศาสนพิธีโดยกลุ่มศรัทธาจากเมืองไทยนำโดยพระภิกษุไปมาไม่ขาดสายในการเดินทางไปประเทศอินเดีย
พระธรรมโกศาจารย์ (ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9) อธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ประธานสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานาชาติ ประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก พระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์และตำแหน่งสำคัญอีกมาก เมตตาให้สัมภาษณ์ผู้เขียนดังต่อไปนี้
“หากพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านสนามบินนานาชาติ พบว่า หลายประเทศจัดห้องที่เป็นสากลเรียกว่า Meditation Room ไม่เจาะจงว่าเป็นศาสนาใด แต่ถ้าคำนึงถึงความจำเป็นแต่ละประเทศย่อมมีสิทธิ์ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่ของตนนับถือ ประเทศไทยมีพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาได้ยกให้ไทยเป็นประเทศศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก เป็นที่ทราบทั่วไปในภาคปฏิบัติมีการประชุมพระพุทธศาสนาโลกโดยพระภิกษุจากประเทศต่างๆ เดินทางมาประชุมในประเทศไทยเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี จึงดูแปลกที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ กลับไม่มีห้องพระสงฆ์ มีผู้ถามอยู่เหมือนกันว่า “why?” จะเห็นได้ว่าบรรยากาศเวลาพระสงฆ์นานาชาติมาเมืองไทย ได้เห็นวัดวาอารามสวยงาม เห็นประชาชนชาวไทยปฏิบัติต่อพระสงฆ์ที่บ่งถึงความเป็นผู้ยึดมั่นในธรรมวินัยเคารพในความประพฤติดีประพฤติชอบ ด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อ ดูแลท่านว่าเป็นที่ประทับใจมีกิจกรรมสำคัญก็ถือพระสงฆ์เป็นหลัก เวลาประชุมจัดงานถ้าประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ กำหนดการจะเอื้ออำนวยความสะดวกแก่พระสงฆ์เป็นสำคัญ มีการพักฉันเพลเป็นไปตามพุทธบัญญัติ ต่างจากเวลาไปประชุมประเทศอื่น มักจะถือเอาเวลาของญาติโยมเป็นหลัก พระจึงค่อนข้างลำบาก การจัดห้องรับรองพระภิกษุสามเณร นับว่าเป็นประโยชน์เป็นแบบอย่าง สมเป็นเมืองพระพุทธศาสนาช่วยให้เกิดความเรียบร้อยไม่ต้องเกะกะเวลามีคนแน่นที่สนามบิน มีความสงบในการทำจิตเป็นสมาธิ ให้อ่านหนังสือธรรมะ สนทนาธรรมทำวัตรปฏิบัติตามกาลเทศะอันควร พระภิกษุนานาชาติได้เห็นก็ย่อมต้องเกิดความประทับใจในความเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้น ของพระพุทธศาสนา สมกับที่ได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก เป็นแผ่นดินธรรมที่พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่มาแต่ครั้งบรรพชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน
หลายครั้งที่คณะอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนาได้เคยพิจารณาถึงจุดอ่อนของชาวพุทธ ที่มิอาจร่วมใจกันในการกล่าวถึงพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ยามใดที่มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาจะมีข้อถกเถียงโต้แย้งมิรู้จบสิ้น ทำให้การจัดระบบโครงสร้างขององค์กรพระพุทธศาสนา เป็นไปอย่างง่อนแง่นคลอนแคลน ภาครัฐให้ความสำคัญไม่เต็มที่เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต ปัจจุบันการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานของคณะสงฆ์และพุทธศาสนนิกชนซึ่งควรได้รับงบประมาณสนับสนุนในการเดินทางได้เริ่มขึ้นเพราะแรงผลักดันจากคณะอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนาทั้งสภาผู้แทนราษฎรนำโดยคุณวิรุฬ เตชะไพบูลย์ และวุฒิสภาโดยคณะอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนาดังที่นำเสนอในบทความนี้
ความสำคัญของการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานเป็นพระพุทธดำรัสของพระพุทธองค์ครั้งพุทธกาล ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า
“ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว จักเป็นพระศาสดาของท่านทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป จงแสดงสังเวชนียสถาน คือสถานที่ควรสังเวช 4 คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร และปรินิพพาน ว่าเมื่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จาริกไป มีจิตเลื่อมใส ตายลงก็จะเข้าสู่สุคติ โลกสวรรค์”
พระเทพวิสุทธิกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสฯ ที่ปรึกษาคณะทำงานห้องรับรองพระสงฆ์ – สามเณรในคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมกิจกรรมพระพุทธศาสนา ชุดปัจจุบันของวุฒิสภา และในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในสื่อโทรทัศน์และสื่อหลายแห่งว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สามารถอยู่ร่วมกับศาสนาอื่นได้มาโดยตลอด แต่พุทธศาสนาเมื่อไปรวมอยู่กับศาสนาอื่น พระเทพวิสุทธิกวีกล่าวในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่าจากประวัติศาสนาไม่ว่าจะเป็นในประเทศอินเดีย แดนพุทธภูมิ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ฯลฯ ที่เคยรุ่งเรืองก็จะถูกกระทำจนล่มสลายไปในที่สุด ชาวพุทธจึงควรรวมกันกับนานาชาติ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ชาวพุทธนานาชาติยกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาของโลก พระเทพวิสุทธิกวีกล่าวย้ำว่า
“อยากให้มองถึงพระภิกษุสามเณรนานาชาติด้วย เพราะสมัยนี้มีความเป็นนานาชาติมาก การอำนวยความสะดวกจึงไม่ใช่เฉพาะพระสงฆ์ไทยเท่านั้นแต่ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางวันวิสาขบูชาโลก เท่ากับเป็นศูนย์กลางรวมชาวพุทธโลกโดยพร้อมเพรียงกัน สมดังพุทธสุภาษิตว่า สมคฺคานํ ตโป สุโข ความเห็นของหมู่ชน ผู้พร้อมเพรียงกันทำให้เกิดสุข หน้าที่ของพุทธศาสนิกชนประการหนึ่งก็คือการปกป้องคุ้มครองและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา สังคมไทยถูกกระแสแห่งการปฏิรูปจากต่างชาติที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาแท้จริง จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งองค์กรที่มาของศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย”
นอกจากผลงานฝ่ายวุฒิสภาแล้ว ผู้เขียนได้อ่านข่าวสารผลงานของคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ส.ส. พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน ได้นำร่างพระราชบัญญัติธนาคารพระพุทธศาสนาเสนอไปยังนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554
จากข้อมูลต่างๆ ที่สรุปจากกิจกรรมและข่าวสารทั่วไป จะเห็นได้ว่าความสำคัญของการรวมกิจการที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับการผนึกรวมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2493 ในประเทศศรีลังกา มีผู้แทนพุทธศาสนิกชนจาก 27 ประเทศ ในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ทั้งนิกายเถรวาท มหายาน วัชรยาน ซึ่งรวมกันใต้ร่มธงฉัพพรรณรังสี ธงสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาส่องรัศมี 6 สี คือสีน้ำเงิน เหลือง แดง ขาว ส้มและสีประภัสสร ซึ่งพจนานุกรมให้คำจำกัดความสีสุดท้ายนี้ว่า สีเลื่อมๆ พรายๆ แสงพราวๆ เหมือนแสงอาทิตย์แรกขึ้น บริสุทธิ์เช่นจิตประภัสสร
คณะทำงานห้องรับรองพระภิกษุ สามเณร เป็นคณะผู้ปฏิบัติภารกิจเพื่อพระพุทธศาสนาเป็นพุทธบูชา ผู้ได้รับประโยชน์คือพระธรรมทูตและพุทธศาสนิกชนมหาชนทั่วไป เพราะการเผยแผ่พระพุทธธรรมย่อมนำสันติสุขสู่โลกปัจจุบันมีวัดไทยและชุมชนไทยอยู่ทั่วทุกภูมิภาคโลก มีเยาวชนสายเลือดไทยเติบโตในต่างแดนจำนวนมาก ผลงานจากจุดเล็กๆ ของคณะทำงานนับเป็นจุดเริ่มต้นเปิดประตูจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแผ่ขยายเชื่อมโยงพลังชาวพุทธเป็นเอกภาพสืบไปชั่วกาลนาน ขอชาวพุทธได้โปรดร่วมอนุโมทนาสนับสนุนด้วย ฝ่ายดูแลรับผิดชอบ คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ การท่าอากาศยานและเจ้าของเรื่อง คือคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนาในคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา
ผู้เขียน ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา (พ.ศ. 2551-2552)
อนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนา วุฒิสภา (2551-2553)
ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพระพุทธศาสนา วุฒิสภา (2553)
คณะทำงานห้องรับรองพระภิกษุ สามเณร วุฒิสภา (2554)