” เข้าพรรษา…” (สำนวนกลอน)
เข้าพรรษาหน้าที่สงฆ์………………ผู้ดำรงพระวินัย
สามเดือนจะไม่ไป……………….. เที่ยวสัญจรหรือรอนแรม
เป็นช่วงที่พระจะศึกษ์……………..ต้องประพฤติมโนแจ่ม
ภาวนาอยู่พักแรม………………….ณวัดชอบประกอบคุณ
ส่วนโยมน้อมก้มสิระ…………….. ทุกทิวะจะอุดหนุน
ประกอบทานศีลเพิ่มพูน…………..ในใบบุญพระสัมมา
ขอเชิญทุกทุกท่าน………………….จงเข้ากาลปวารณา
ตั้งใจลดเลิกลา……………………..เสพย์สุราและเมรัย
อีกทั้งสิ่งเสพย์ติด…………………..มลพิษไม่พิศมัย
จงผละมันออกไป…………………..พรรษาไตรมาสะเดือน
ทำดีคู่เคียงสงฆ์…………………….ตั้งใจตรงดำรงเหมือน
บวชใจไม่แชเชือน…………………ความสุขเปื้อน ณ พักตร์งาม
ทำบุญด้วยจิตแจ่ม…………………อยู่พักแรม ณ เดือนสาม
ตั้งใจพระพฤติตาม……………….. ธรรมวิลาสองอาจเทอญ.
พระสามารถไปภายในพรรษาได้บ้าง หากมีเหตุจำเป็น พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ไปได้ไม่เกิน ๗ วัน คือ
ทรงอนุญาตให้เดินทางได้ในระหว่างพรรษาโดยให้กลับภายใน ๗ วัน ในเมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้น ที่เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” ดังต่อไปนี้
๑. ทายกปรารถนาจะบำเพ็ญกุศล ส่งคนมานิมนต์ ในกรณีเช่นนี้ ทรงอนุญาตให้ไปได้เฉพาะที่เขาส่งคำนิมนต์มา ถ้าไม่ส่งคำนิมนต์มา ไม่ให้ไป
๒. เพื่อนสหธัมมิก คือผู้บวชร่วมกัน (ภิกษุ, ภิกษุณี, นางสิกขมานา, สามเณร, สามเณรี) เป็นไข้จะส่งคนมานิมนต์หรือไม่ก็ตาม ทรงอนุญาตให้ไปได้. นอกจากนั้นยังทรงบัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับเพื่อนสหธัมมิกอีก คือเมื่อเพื่อนสหธัมมิกเป็นไข้ ภิกษุปรารถนาจะช่วยแสวงหาอาหาร, ผู้พยาบาล, ยารักษาโรคก็ไปได้, เมื่อเพื่อนสหธัมมิกเกิดความไม่ยินดี เกิดความรังเกียจ หรือเกิดความเห็นผิดขึ้น ไปเพื่อระงับเหตุนั้น , เมื่อเพื่อนสหธัมมิก (เฉพาะภิกษุ, ภิกษุณี) ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ปรารถนาจะอออกจากอาบัติในขั้นใด ๆ ก็ตาม หรือสงฆ์ปรารถนาจะทำสังฆกรรมลงโทษภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปที่จะถูกลงโทษต้องการให้ไป ก็ไปได้เพื่อไกล่เกลี่ยไม่ให้ต้องทำกรรม หรือให้ลงโทษเบาลงไป, เพื่อให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยพระวินัยเพื่อปลอบใจ เป็นต้น. หรือเมื่อนางสิกขมานาหรือสามเณรปรารถนาจะบวช ไปเพื่อช่วยเหลือในการนั้น
๓. มารดา บิดา พี่น้อง หรือ ญาติ เป็นไข้ ส่งคนมานิมนต์หรือไม่ รู้เข้า ไปได้
๔. วิหารชำรุด ไปเพื่อหาสิ่งของมาปฏิสังขรณ์.
ขาดพรรษาที่ไม่ต้องอาบัติ
เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ไม่สามารถจะจำพรรษาในที่นั้น ๆ ต่อไปได้ ทรงอนุญาตให้ไม่ต้องอาบัติ ดังต่อไปนี้
๑. ถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น วิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม
๒. ชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ทรงอนุญาตให้ไปกับเขาได้ ชาวบ้านแตกกันเป็น ๒ ฝ่าย
๓. ขาดแคลนอาหารหรือยารักษาโรค หรือขาดผู้บำรุง ได้รับความลำบาก ทรงอนุญาตให้ไปได้
๔. มีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ทรงอนุญาตให้ไปให้พ้นได้
๕. ภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกัน หรือมีผูพยายามให้แตกกัน หรือทำให้แตกกันแล้ว ไปเพื่อหาทางระงับได้.
ทรงอนุญาตการจำพรรษาในที่บางแห่ง
มีภิกษุบางรูปประสงค์จะจำพรรษาในบางที่บางแห่งต่าง ๆ กัน ทรงผ่อนผันให้จำพรรษาได้ คือ
๑. ในคอกสัตว์ (อยู่ในที่ของนายโคบาล)
๒. เมื่อคอกสัตว์ย้ายไป ทรงอนุญาตให้ย้ายตามไปได้
๓. ในหมู่เกวียน
๔. ในเรือ.
ทรงห้ามจำพรรษาในที่ไม่สมควร
ทรงห้ามการจำพรรษาในที่ไม่สมควร คือ
๑. ในโพรงไม้
๒. บนกิ่งหรือค่าคบไม้
๓. กลางแจ้ง
๔. ไม่มีเสนาสนะ (คือที่นอนที่นั่ง)
๕. ในโลงผี
๖. ในกลด๑ (เช่น เต๊นท์ของนายโคบาล)
๗. ในตุ่ม
ข้อห้ามอื่น ๆ
๑. ห้ามตั้งกติกาที่ไม่สมควร เช่น ไม่บวชสามเณรให้ในพรรษา
๒. ห้ามรับปากว่าจะจำพรรษาในที่ใดแล้ว ไม่จำพรรษาในที่นั้น.