“ยุวชน เสถียร กมลมาลย์ อายุ ๑๗ ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข สอบได้ชั้น ม. ๕ เป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทะศาสนา ได้ประหยัดรายได้ค่าขนมที่มารดาให้ ซื้อหนังสือทางพระพุทธศาสนาทุกชนิดอ่าน เท่าที่จะหาได้ในประเทศไทย ปละได้รวบรวมหนังสือทางศาสนาอื่นเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ ความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาของยุวชนผู้นี้ มีในขนาดไร และพระพุทธศาสนาได้ชนะหัวใจของเขาอย่างไร ท่านผู้อ่านจะพิจารณาได้จากเรื่องนี้ อนึ่งควรบันทึกไว้ในที่นี้ด้วยว่า เรื่องบางเรื่องที่นำลงในธรรมจักษุฉบับนี้ ที่เป็นเรื่องแปลหรือแต่งก็ดี ยุวชนผู้นี้ได้มีส่วนช่วยเป็นเลขานุการ เขียนตามคำบอกแห่งเจ้าหน้าที่ของเราด้วยความสมัครใจ และยินดีที่ได้รับใช้พระพุทธศาสนา อันเราจะเว้นเสียมิได้ซึ่งความรู้สึกอนุโมทนาในกุศลเจตนาของยุวชนผู้นี้” / กองบรรณาธิการธรรมจักษุ
พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม
เสถียร กมลมาลย์* (โพธินันทะ)
(จากธรรมจักษุฉบับสันติภาพ เล่ม ๓๐ ตอนที่ ๓ – ๑๒ ประจำ ธันวาคม ๒๔๘๗ – กันยายน ๒๔๘๘)
* ในขณะนั้นยังมิได้เปลี่ยนนามสกุล
……………………
คนหนุ่ม ๆ ในสมัยนี้โดยมากไม่ใคร่รู้จักคุณค่าของศาสนา เพราะเขาทั้งหลายต่างมีหน้าที่ในการสะสางปัญหาภายนอก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา เขามีความคิดขัดแย้งกับความคิดของปู่น่าตายาย จิตใจของเขากำลังวุ่นเกี่ยวกับการเมืองเศรษฐกิจ ฯลฯ และเรื่องอื่น ๆ อีกมากหลาย ชายหัวใหม่หรือคนหนุ่ม ๆ เหล่านี้ เห็นการถือศาสนาเป็นของครึ ล้าสมัย การไปวัดไปวาเป็นของน่าอับอาย เห็นว่าสู้ไปอยู่ตามโรงภาพยนตร์หรือตามฮอลล์หรือสโมสร ซึ่งมีพวกสาว ๆ ห้อมล้อมในท่ามกลางเสียงดนตรีกับเสียงแก้วเหล้าไม่ได้ ถ้ามีใครไปพูดเรื่องธรรมะเข้า เขาเหล่านั้นก็ไม่ต้องการจะฟัง และผู้พูดอาจจะถูกยิ้มเยาะว่าหัวโบราณบ้าง งมงายบ้าง
แต่ที่พูดมาดังนี้ ไม่ใช่ปรักปรำพวกหนุ่ม ๆ ว่าไม่ดีไปเสียหมด ความจริงที่เขาไม่สนใจในเรื่องศาสนา อาจเนื่องด้วยเขายังไม่มีความรู้พอที่จะสาวหาความจริงจากศาสนาก็ได้ ตามที่พวกเขาเข้าใจ ก็เพียงรู้ว่า ศาสนานั้นสอนแต่เรื่องสวรรค์ – นรก หรือใช้สวรรค์มาล่อ ใช้นรกมาขู่เท่านั้น นอกนั้นไม่มีอะไรอีก ฉะนั้นถ้าใครไปเลื่อมใสในศาสนาเข้า ก็เลยถูกหาว่าเป็นคนงมงายไป
ศาสนาทั้งหลายในโลกนี้มีอยู่ด้วยกันหลายศาสนา ศาสนาที่ใหญ่ มีคนนับถือมากมีอยู่ ๕ ศาสนาด้วยกัน คือ พุทธศาสนา, คริสต์ศาสนา, อิสลาม หรือ มหมัดศาสนา และ ศาสนาขงจื้อ ศาสนาทั้ง ๕ นี้ เป็นเหมือนหนึ่งบิดามารดาที่อบรมจิตใจ ตลอดจนถึงศีลธรรมจรรยาให้แก่มนุษย์ ทุก ๆ ศาสนาย่อมมีจุดมุ่งหมายมุ่งที่จะให้มนุษย์มีความสุข แต่วิธีที่จะบรรลุถึงซึ่งความสุขนั้นแตกต่างกัน บางศาสนามีที่คล้ายคลึงกันทางศีลธรรม ส่วนทางปรัชญาและการปฏิบัติแล้ว ต่างกันอย่างไกลลิบ
แต่เฉพาะพระพุทธศาสนานั้น มีลักษณะแปลดประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง คือธรรมะของพระพุทธเจ้าแนบสนิทกับแนวคิดอันต้องการเหตุผลของพวกหนุ่ม ๆ และเหมาะสมกับจิตใจของมนุษย์ ไม่ว่าในอดีต, ปัจจุบัน หรืออนาคต ฉะนั้นจึงมีคำสรรเสริญธรรมะของพระองค์ว่า “อกาลิโก” ไม่เลือกกาลเวลา ใครปฏิบัติได้เวลาไหน ก็ให้ผลในเวลานั้น ไม่ต้องรอคอยชาติหน้าหรือชาติไหน ๆ คำว่า พุทธะ แปลว่า “ผู้ตื่นแล้ว” เป็นนามอันพระศรีศากยมุนีทรงได้รับในฐานะที่พระองค์ได้เป็นผู้ค้นพบความจริงที่ประกอบด้วยเหตุผล และเป็นผู้ประกาศธรรมะทั้งหลายในศาสนานี้ และสรรพสัตว์ทั้งหลายก็อาจเป็นพุทธะได้ด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นคำว่าพุทธะ จึงมิใช่จำกัดแต่เฉพาะพระศรีศากยะมุนีพุทธเจ้าพระองค์เดียว ถ้าผู้ใดอยากเป็นพระพุทธเจ้าบ้างก็เป็นได้ แต่จะต้องบำเพ็ญคุณความดีให้เสมอดังพระพุทธเจ้า
“เพราะพุทธภาวะนี้เป็นคุณชาตอันหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่อย่างไม่รู้จักสุดสิ้น และเป็นนิจนิรันดร สัตว์ทั้งหมดก็เป็นผู้มีส่วนร่วมของคุณชาตอันนั้น” (จากหลัก สัทธัมมปุณฑริกสูตร ของพระพุทธศาสนามหายาน)
หลักอันนี้ แสดงให้เห็นว่า ธรรมะของพระพุทธศาสนาไม่จำกัดบุคคล ชั้นวรรณะ หรือจำกัดความดีให้มีขอบเขตดังศาสนาอื่น ซึ่งแม้ผู้ใดบำเพ็ญความดีแสนดีเท่าไร ก็คงยังต้องเป็นทาสของพระเจ้า จะเป็นดังพระเจ้าไม่ได้ อีกประการหนึ่ง หลักของพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดคือ หลักแห่งเหตุปละผลตามเป็นจริง พระพุทธองค์ผู้เป็นพระบรมศาสดาของเรา พระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนตลอดเวลา ๔๕ ปีแห่งพระชนมายุ ก็เพื่อปลุกให้ตื่นจากความงมงายอันไร้เหตุผลของมนุษย์ ก่อนที่จะเชื่ออะไรนั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนให้พิจารณาหาเหตุผลนั้นก่อน ดังปรากฏในกาลามสูตร (ติกนิบาต. อัง.) เรื่องมีอยู่ว่า
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาของเราประทับอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชื่อว่า เกสปุตติยะ ของชาวกาลามะ ๆ เหล่านั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องว่า มีเจ้าลัทธิศาสนาต่าง ๆ ได้สั่งสอนศาสนาในหมู่บ้าน ต่างคนต่างแสดงความเห็นของตนว่าถูกต้องดี ของผู้อื่นผิด ชาวกาลามะมีความสงสัย ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติในลัทธิใดจึงจะถูกต้อง
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนกาลามชน ! ท่านควรสนเท่ห์ ควรสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในที่ควรสงสัย
กาลามชน ! ท่านอย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา, อย่าได้ถือโดยเข้าใจว่าเป็นของเก่าสืบ ๆ กันมา, อย่าได้ถือโดยตื่นข่าว, อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา, อย่าได้ถือโดเหตุนึกเดาเอา, อย่าได้ถือโดยใช้คาดคะเน, อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ, อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน, อย่าได้ถือเอาโดยเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้, อย่าได้ถือโดยนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา
ดูก่อนกาลามชน ! เมื่อท่านใดรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล… มีโทษ… ท่านผู้รู้ติเตียน… ทำถึงที่สุดแล้วไม่มีประโยชน์… เป็นทุกข์ กาลามชน ! ท่านพึงละเสียเมื่อนั้น ฯลฯ
ดูก่อนกาลามชน ! เมื่อใดท่านรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล… ไม่มีโทษ… ท่านผู้รู้สรรเสริญ… ทำถึงที่สุดแล้วมีประโยชน์… เป็นสุข กาลามชน ! ท่านพึงทำสิ่งเหล่านั้นให้เต็มที่เถิด” นี่แหละเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับตัดสิน ก่อนที่จะเชื่อลงในสิ่งใด ๆ และแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาให้เสรีภาพในการเชื่อของพวกเราเต็มที่ ไม่มีการบังคับง่า ไม่เอแล้วจะมีผู้ลงโทษให้ตกนรกหมกไหม้อยู่ไม่รู้สิ้นสุด อุบัติเหตุ
อีกเรื่องหนึ่ง อันแสดงถึงความที่พระพุทธองค์ทรงต้องการให้เราทั้งหลายพิจารณาซึ่งเหตุและผลก่อนแล้วค่อยเชื่อนั้น คือใน อุบาลีวาทสูตร แห่งมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เรื่องกล่าวโดยย่อมีว่า อุบาลีคฤหบดี ของเมืองนาลันทา เดิมนับถือศาสนาเชน ซึ่งมี นิครนถนาฏบุตร หรือ มหาวีระเป็นศาสดา ต้องการโต้เถียงปัญหากับพระพุทธเจ้า ก่อนจะไป ได้อวดอ้างตัวต่าง ๆ กับนิครนถนาฏบุตร ผู้เป็นศาสดาว่า จะเอาชนะพระพุทธเจ้ากลับมา ครั้นภายหลัง ได้โต้เถียงปัญหาแล้ว อุบาลีกลับเลื่อมใสขอถึงพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสอย่างที่ศาสดาของศาสนาอื่นจะไม่กล้าพูดว่า
คฤหบดี ! ท่านจงทำการใคร่ครวญก่อน การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำลง ย่อมเป็นความดีของคนมีชื่อเสียงดังเช่นท่าน”
อุบาลีได้ฟังแล้วเกิดความชื่นชมยินดี ตอบว่า “…แม้ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้ข้าพระองค์พอใจ ชื่นใจนักต่อพระผู้มีพระภาค เพราะว่าพวกอัญญเดียรถีย์ (พวกศาสนาอื่น) ได้ข้าพระองค์เป็นสาวกแล้ว, ก็จะพึงยกธงแผ่นผ้าขึ้นทั่วเมืองนาลันทา แล้วประกาศว่า ‘อุบาลีคฤหบดีได้ถึงความเป็นสาวกของพวกเราแล้ว’ ก็และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสแก่ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘คฤหบดี ! ท่านจงทำการใคร่ครวญก่อน การใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำลง ย่อมเป็นความดีของคนมีชื่อเสียงดังเช่นท่าน’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค, พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งครั้งที่ ๒ ของพระผู้มีพระภาค จงทรงจำข้าพระองค์ว่า ได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเสมอด้วยชีวิตตั้งแต่วันนี้ไป”
พระพุทธเจ้าได้ทรงเตือนอีก อุบาลีก็ยิ่งเกิดความเลื่อมใสมากขึ้นเพราะตัวยังไม่ได้เคยพบว่า ศาสดาใดที่สอนแล้วมีคนเลื่อมใส กลับตักเตือนให้พิจารณาค้นหาเหตุผลดูก่อนแล้วค่อยเชื่อ มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น
พระสูตรนี้ก็แสดงถึงการเชื่ออย่างไม่งมงาย อันเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งของพวกเราชายหนุ่มทั้งหลาย ยังมีพระสูตรอีกสูตรหนึ่ง แสดงว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ต้องการให้ใครเชื่อพระองค์อย่างงมงาย คือ วัปปสูตร (อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต)
“สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับที่นิโครารามในหมู่ชนชาวสักกรัฐ มีเจ้าศากยะองค์หนึ่งชื่อวัปปะ เป็นสาวกของนิครนถ์ ได้เข้าไปถามปัญหากะพระโมคคัลลานะ พอดีพระพุทธเจ้าเสด็จมา พระมหาโมคคัลลานะจึงได้กราบทูลเรื่องให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า
“วัปปะ ถ้าท่านพึงยอม ข้อที่ควรยินยอมแก่เรา และพึงคัดค้าน ข้อที่ควรคัดค้าน อนึ่ง ท่านยังไม่ทราบเนื้อความแห่งภาษิตของเราข้อใด ท่านพึงย้อนถามเราในข้อนั้นต่อไป ว่าข้อนี้เป็นอย่างไร ภาษิตนี้มีเนื้อความว่าอย่างไร ดังนี้แล้ว เราก็จะพึงสนทนาปราศรัยกันในเรื่องนี้ได้”
พระพุทธเจ้าของเราทรงเปิดโอกาสให้ผู้ไม่รู้ ซักถามได้หรือคัดค้านได้อย่างไม่ต้องเกรงอกเกรงใจ หรือเกรงว่า ถ้าขืนคัดค้านจะถูกพระองค์หรือใครลงโทษ และการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์นั้น พระองค์ไม่ได้อ้างว่า พระองค์เป็นผู้แทนของใคร หรือใครดลใจให้พูด ความตรัสรู้ที่ได้นั้นเป็นด้วยความพากเพียรของพระองค์เอง ที่พระองค์ได้บรรลุสัมโพธิญาณ ก็ไม่ใช่วาได้มาอย่างลอย ๆ หรือมีใครบันดาล หากด้วยความดีงามที่พระองค์อุตสาหะบำเพ็ญสั่งสมมาในอเนกชาติ จนสามารถบรรลุคุณธรรมอันนี้ พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า พระองค์สามารถล้างบาป หรือประทานบุญแก่คนทั่วไปได้ หาดผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ๆ ก็ไม่สามารถจะทรงช่วยได้ หรือผู้ใดหันหลังให้พระองค์ โดยไม่ยอมฟังเสียงใด ๆ จากพระองค์แล้ว พระองค์ก็ช่วยผู้นั้นไม่ได้ พระองค์ช่วยได้ก็เฉพาะผู้ที่ประพฤติตนดี เชื่อฟังคำสอนของพระองค์แล้วปฏิบัติ พระองค์ตรัสว่า พระองค์เป็นเพียงผู้บอกทางให้เราไปถึงที่อันเกษม การไปนั้น เราจะต้องไปด้วยตนเอง (คณกโมคคัลลานสูกตร)
มีบางคนเข้าใจว่า ผู้ที่จะปฏิบัติตามธรรมในพระพุทธศาสนานั้นต้องเป็นภิกษุ และธรรมในพระพุทธศาสนาลึกซึ้งเกินไป จนตัวผู้ไม่ได้บวชเป็นภิกษุจะปฏิบัติไม่ได้ การเข้าใจดังนี้เป็นความเข้าใจผิดมาก ความจริงธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น เหมาะกันชนทุกชั้นมุกวัย แต่เราจะต้องเลือกปฏิบัติ เปรียบเหมือนกับยาแก้โรค เราจะต้องรู้จักใช้มันให้ถูกทาง ถ้าเป็นเด็ก เราก็กินตามขนาดเด็ก เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ ธรรมะของพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน
คือมีแบ่งเป็นสามขั้น ตั้งแต่เบื้องต้น, กลาง, จนถึงยอดสุด ทั้งสามขั้นนี้เราอยู่ในขั้นไหน ก็เลือกประพฤติเอาขั้นนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนผู้ครองเรือน หรือผู้ยังเกี่ยวด้วยโลก ทรงสอนว่า
“ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ! ทางดี ๔ อย่างคือ ไม่เป็นนักเลงหญิง, ไม่เป็นนักเลงเหล้า, ไม่เล่นการพนัน, คบคนดี ทั้ง ๔ อย่างนี้ ย่อมเป็นทางเจริญแห่งโภคทรัพย์” (พยัคฆปัชชสูตร)
และ “ความเป็นผู้ศึกษามาก, ศิลปะ, ระเบียบวินัยที่ฝึกฝนแล้วเป็นอย่างดี, และถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต… การบำรุงมารดาและบิดา, การสงเคราะห์ลูกเมีย, การงานทั้งหลายไม่อากูล, ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด” (มงคลสูตร)
นี้คือธรรมะขั้นต้น มีศัพท์เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือประโยชน์ในปัจจุบัน พวกหนุ่ม ๆ ก็สามารถประพฤติปฏิบัติได้ ส่วนธรรมขั้นกลางนั้น เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในภายหน้า เมื่อเรามีหลักฐานดีเบื้องต้นไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เราก็ควรบำเพ็ญความดีให้ยิ่งขึ้นไปอีก แต่ถ้าใครเห็นว่าตัวไม่สามารถบำเพ็ญต่อไป ก็ขอให้มีความดีในขั้นต้นก็ยังดี พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาสั่งสอนสัตว์ ทรงกำหนดรู้อุปนิสัยของเขาว่ามีนิสัยไปในทางใด เช่นผู้ใดพอจะสอนในทางศีลธรรมได้ พระองค์ก็ทรงตรัสสอนให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม เพื่อความสุขความเจริญในอนาคตกาลของผู้นั้น ธรรมะขั้นนี้มีอยู่ ๔ ประการคือ
(๑) สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศรัทธาแปลว่าความเชื่อ ความเชื่อในพระพุทธศาสนา ไม่ให้เชื่องมงานดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ความเชื่อในที่นี้ หมายถึงความเชื่อในการกระทำของเราว่า ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว ไม่มีใครหรือไม่มีพระเจ้าองค์ใดจะมาสับเปลี่ยนให้ดีเป็นชั่ว ชั่วเป็นดีได้
(๒) สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล คือ รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย มีหลักใหญ่ ๆ อยู่ ๕ ข้อ เรียกว่า เบญจศีล หรือ ศีล ๕ คือ เว้นจากการทำลายชีวิตสัตว์, เว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของได้ให้, เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, เว้นจากการกล่าเท็จ, เว้นจากการดื่มน้ำเมา
(๓) จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน คือให้เรารู้จักความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เป็นคนตระหนี่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว
(๔) ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นคนมีเหตุผล รู้ว่าสิ่งใดชั่วก็ไม่ประพฤติ ประพฤติแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์
ส่วนธรรมขั้นที่สาม เรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ หรือประโยชน์อย่างยอด ธรรมในขั้นนี้ เป็นปรัชญาอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา เหมาะแก่ผู้ใฝ่ใจไปในทางปรัชญา หรือธรรมะขั้นสูง พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกสิ่งทุอย่างในโลกนี้ไม่มีตัวตน เรียกว่าอนัตตา ไม่ทรงสอนเรื่องพระเจ้าผู้สร้างโลก สิ่งทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นตามปัจจัยและตามธรรมชาติ และสิ่งใดมีเหตุมีปัจจัย สิ่งนั้นย่อมไม่เที่ยง และเมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ความเวียนว่ายตายเกิดในโลกนั้น เรียกว่า “วัฏฏสงสาร” เป็นทุกข์
การที่พูดเช่นนี้ ไม่ใช่มองดูโลกในแง่ร้าย มีใครบ้างที่เกิดมแล้วสามารถประกาศว่าแนไม่เคยมีทุกข์เลยจนกระทั่งวันตาย ท่านไม่ทุกข์มาก ก็ทุกข์น้อย แม่พระพุทธเจ้าเมื่อสมัยพระองค์ยังไม่ได้ตรัสรู้ พระองค์ก็เคยพบกับความทุกข์มาแล้ว หากพระองค์มีพระปรีชา ไม่ใช่รู้ว่าทุกข์แล้วก็หยุดไว้แค่นั้น พระองค์ทรงพยายามค้นคว้าสาวหาต้นเหตุของมันว่ามาจากไหน และทรงรีบดับลงเสียได้ จนพระองค์ได้ตรัสรู้เป้นพระพุทธเจ้า และทรงสอนผู้อื่นให้รู้ด้วย
ความทุกข์ยากต่าง ๆ ที่เราได้รับนี้ ต้นเหตุที่มาก็คือตัณหา ความอยาก นั่นเอง และความอยากอันนี้เป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน ความยึดมั่นในตัวตนว่า ของเรา, เป็นเรา, เมื่อเกดความยึดถือในตัวแล้ว สิ่งภายนอกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวก็พลอยยึดไว้ด้วย ทีนี้ถ้าตัวมีความอยากในสิ่งใด แต่ไม่สมอยาก ห็เกิดความทุกข์ ตลอดจนสิ่งภายนอกของตัวเองด้วย ความจริงรูปร่างของเรานี้ ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, และขันธ์, อายตนะ, ไม่มีสิ่งใดที่จะเรียกได้ว่าเป็นตัวตน
ถ้าเราแยกมันออกมาทีละชิ้น เหมือนกับการแยกส่วนต่าง ๆ ของรถ เช่น ดินส่วนดิน, น้ำส่วนน้ำ, ฯลฯ แล้ว ก็มีผลว่า มันว่างเปลา แต่ที่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง ก็เพราะส่วนต่าง ๆ เหล่านี้มาคุมกันเข้าถูกส่วน และมีจิตบงการให้รู้สึกนึกคิดเท่านั้น
ความจริงแยกออกแล้วไม่มีอะไร นอกจากความสูญ, ว่างเปล่า, ไม่มีตัวตน ฉะนั้นการที่เราหลงยึดเอาความว่างเปล่านี้มาเป็นตัวตนเข้า ก็เท่ากับว่า เราไปหาทุกข์มาใส่ตัวของเราเอง ใครสามารถละความยึดมั่นได้เท่าไร ก็มีทุกข์น้อยลงตามลำดับ จนที่สุด ถ้าไม่ยึดมั่นอะไรไว้เลย ผลก็คือความเป็นผู้ไม่มีทุกข์อะไรเลย ดังเช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
ขอให้พวกเราหนุ่ม ๆ พิจารณาดูว่า พระพุทธศาสนานั้น สมควรจะเป็นศาสนาสากลหรือไม่ และสมควรที่จะรับปฏิบัติได้แล้วหรือยัง ? เราจะหาศาสนาไหนอีกเล่าที่เหมาะสมกับชีวิตจิตใจ ตลอดจนความเป็นอยู่ของเรา เช่นพระพุทธศาสนา เราจะเห็นว่า พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นศาสนาสากล และพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ไม่ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ควรได้รับความยกย่อง
ทีนี้ข้าพเจ้าพอพูดถึงมติส่วนตัวของข้าพเจ้าบ้างเล็กน้อย ว่าธรรมะในพระพุทธศาสนานั้น ควรจะได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนตามดรงเรียน เมื่อสมัยก่อนเคยมีอยู่พักหนึ่ง แต่ทำไมกลับเลิกไป ?
หลักสูตรศีลธรรมชั้นมัธยมก็มีเค้าจากธรรมะในพระพุทธศาสนา เช่น ใน สิงคาโลวาทสูตรเป็นต้น เราควรจะจัดให้มีการเรียนธรรมะโยตรง เช่น พุทธประวัติ – คิหิปฏิบัติ ไว้ในชั่วโมงเรียนศีลธรรม ปัจจุบัน เด็กหนุ่มของเราโดยมาก ไม่รู้จักแม้เพียงประวัติของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเคยได้ยินเขาเล่ามาเรื่องหนึ่งว่า มีเด็กไทยที่ไปเรียนต่างประเทศ ถูกนักบวชต่างศาสนาถามว่า พระพุทธเจ้าคือใคร ? เขาตอบไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เขาบอกว่าเขาเป็นพุทธศาสนิก นี่เป็นข้ออับอายเหลือประมาณในการที่เขาเป็นคนไทยซึ่งบูชาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
เราจงดูตัวอย่างของโรงเรียนในยุโรป หรือโรงเรียนของพวกมิชชันนารีในประเทศเรา การเรียนคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักสูตรสำคัญของโรงเรียนอย่างยิ่ง มีบางคนเล่าว่า เรียนไปทำไม ธรรมะธรรมโม ไม่เห็นมีประโยชน์ เรียนไปแล้วก็ไปประกอบอาชีพอะไรไม่ได้ เราอย่าลืมว่า ศาสนาเป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรม ศาสนาเป็นบ่อเกิดของความเจริญทางจิตใจ ศาสนาจะทำให้การเห็นแก่ตัวลดน้อยลง และสามารถปลูกฝังศีลธรรมอันดีไว้ อย่าลืมว่า ชาติจะต้องอาศัยพลเมือง ถ้าพลเมืองมีศีลธรรม มนุษยธรรมดีแล้ว ชาติก็ย่อมหวังความเจริญ และท้ายที่สุดก็คือ ศาสนาสามารถทำลายความริษยาเกลียดชังระหว่างชาติได้ เป็นการตัดเหตุแห่งสงคราม นี่แหละคือผลแห่งศาสนาละ
ฉะนั้นเราจึงควรหันมาสนใจในศาสนา ชาติไทยเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ นับว่าเป็นบุญลาภอันยิ่งใหญ่ของเรา เราทั้งหลายจงบำรุงรักษาสมบัติอันยิ่งใหญ่หว่าสมบัติใด ๆ ไว้ และจงศึกษาธรรมะอันประกอบไปด้วย
เหตุผล ซึ่งสมเด็จพระศรีศากยมุนีบรมศาสดาของเราได้ทรงบรรลุ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์นั้นเถิด
ที่มา : http://www.dharma-gateway.com/ubasok-preach-index-page.htm